ดร.อภิรมย์ พรหมจรรยา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการร่วมผลักดัน 7 เส้นทางหลักท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดภูเก็ต ว่า “7 เส้นทางหลักท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดภูเก็ต” เป็นการท่องเที่ยวประเภทหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมจัดการโดยชุมชนเอง โดยมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวเสริมเข้าช่วยเหลือประกอบด้วย ชุมชนท่องเที่ยวท่าฉัตรไชย-ไม้ขาว ชุมชนท่องเที่ยวตำบลกมลา ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางโรง-ป่าคลอก ชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะโหลน-ราไวย์ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านแขนน-เทพกษัตรี ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางเทา-เชิงทะเล และ ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต
สำหรับเส้นทาง “ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต “ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาโดยการสนับสนุนจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต เป็นชุมชนต้นแบบเพื่อนำผลไปเป็นตัวอย่างให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป มีความได้เปรียบตรงมีเป็นอัตลักษณ์ของตัวชุมชนเอง มีสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย การขับเคลื่อนจะเริ่มจากการอนุรักษ์และนำการท่องเที่ยวเข้ามาเสริม จนปัจจุบันเริ่มมีการเข้ามาลงทุนเพื่อทำธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวที่เป็นธุรกิจของชุมชนเอง ไม่ใช่เป็นสาขาจากส่วนกลาง ซึ่งสิ่งที่มหาวิทยาลัยเข้าไปขับเคลื่อนมาจากโจทย์ที่เป็นความต้องการของชุมชน เช่น การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในการส่งเสริมการตลาด การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยอาศัยแผนที่และสื่อในการดึงดูดความสนใจ โดยแสดงผลตำแหน่งที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวในระบบแผนที่ ร่วมกับการจัดทำเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น เพื่อแสดงผลแผนที่แหล่งท่องเที่ยวผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
“หลังจากการร่วมกันขับเคลื่อน 7 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนผ่านไป 3 ปี ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนซึ่งมีการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว 6 จังหวัดในกลุ่มอันดามัน คือภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล ระนอง ซึ่งแต่ละจังหวัดมีจุดแข็งที่ต่างกัน ซึ่งหากเข้าไปสัมผัสย่านเมืองเก่าภูเก็ตจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน” ดร.อภิรมย์ พรหมจรรยา กล่าว
โครงการหนึ่งซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ในระดับโลก คือ “โครงการ TOURIST-Erasmus Plus Project Tourist Expert Training” โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักวิชาการกว่า 30 คนจากสถาบันสมาชิก จาก10 ภาคีทั่วโลก เป็นการอบรมในเรื่องการท่องเที่ยว พร้อมปลูกจิตสำนึกให้รู้รักษ์ธรรมชาติ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลั่นกรองความรู้ให้ตกผลึกแล้วนำมาสรุปรวบรวมข้อมูลร่วมกัน การประชุมครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการ TOURIST เพื่อสร้างศูนย์ความสามารถในการพัฒนาการท่องเที่ยว และกลยุทธ์การจัดการทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลกระทบเชิงบวกของการท่องเที่ยวท้องถิ่นในประเทศ โดยเนื้อหาของการประชุมเชิงปฏิบัติการมุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
นายกวี ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า การฟื้นฟูการท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะบริเวณย่านเมืองเก่า ได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่เมื่อปี 2523 เนื่องจากภูเก็ตเดิมมีเพียงการทำเหมืองแร่ ประมง และสวนยาง และมีการเปลี่ยนเป็นเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งในระยะแรก ส่วนใหญ่ไปเน้นที่ชายหาดฝั่งตะวันตกของเกาะ ซึ่งมีความสวยงาม แต่ปัจจุบันได้กระจายไปยังทั้ง 2 ฝั่งของเกาะ และบนเนินเขา ซึ่งสิ่งที่ร่วมคิดร่วมสร้างระหว่างชุมชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ประสบความสำเร็จเห็นเป็นรูปธรรมได้ในปัจจุบัน และจะมีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่อไปเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวในชุมชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต